วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำม.บูรพา

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา




วิทยากร: นายมาโนช โกมลวนิช


ประวัติความเป็นมา
  สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนามาจาก "พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม" ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 โดยคณะอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน และนิสิตอีกจำนวนหนึ่ง
พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2513 และได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับจนไม่สามารถขยายออกไปได้อีก ทั้งนี้เนื่องจากตัวอาคารมีขนาดจำกัดและไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการนี้โดยตรง
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นมูลค่า 230 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2524 ณ บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางแสน ในเนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จ และมีพิธีมอบให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2526
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 จากนั้นศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลได้จัดทำโครงการเพื่อยกฐานะเป็นสถาบัน และได้รับอนุมัติให้เป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2528 และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ให้องค์ความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลทั่วไป
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา หรือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล หรือชื่อที่นิยมเรียกกันว่า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสน เป็นสถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งอยู่ในเนื้อที่ของมหาวิทยาลัยบูรพา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ก่อนถึงหาดบางแสน 1 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทยและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดชลบุรี
ที่บริเวณด้านหน้าอาคารจะมีน้ำพุรูปปลาโลมา 5 ตัว ชั้นล่างบริเวณหน้าห้องจำหน่ายตั๋ว จัดแสดงโครงกระดูกวาฬแกลบ ( Balaenoptera edeni) ที่ตายในเขตน่านน้ำไทย

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล
ส่วนแรก (หมายเลข 2 ในแผนผังการจัดแสดง) จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจทางด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวิทยาศาสตร์การประมง
ส่วนที่สอง จัด แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของทะเล ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล รวมทั้งความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ ดังมีรายละเอียดดังนี้
               1.นิทรรศการเรื่องราวของอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตในทะเล  โดย   ให้ความรู้ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่อาศัยอยู่ในทะเล คือ แพลงก์ตอนซึ่งมีบทบาทสำคัญของห่วงโซ่อาหารในทะเล สาหร่าย และหญ้าทะเล ฟองน้ำ สัตว์ที่มีโพรงลำตัว เช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน เป็นต้น สัตว์จำพวกหนอนทะเล เช่น หนอนตัวแบนหนอนปล้อง หนอนริบบิ้น เป็นต้น สัตว์จำพวกหอย เช่น หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หมึก และหอยงวงช้าง เป็นต้น สัตว์ที่มีข้อปล้องในทะเล เช่น ปู กุ้ง กั้ง และแมงดาทะเล เป็นต้น สัตว์จำพวกคอร์เดทในทะเล เช่น เพรียงหัวหอม แอมฟิออกซัส และสัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลัง ชนิดต่างๆ ได้แก่ ปลาทะเล โลมา พะยูน เต่าทะเล และจระเข้น้ำเค็ม รวมทั้งเรื่องราวของทะเล และสิ่งมีชีวิตในทะเลยุคดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
                2. นิทรรศการเรื่องราวของทะเล และระบบนิเวศในทะเล ในส่วนนี้จะกล่าวถึงการแบ่งเขตของทะเล และระบบนิเวศต่างๆในทะเล รวมทั้งพืช และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแต่ละระบบนิเวศ โดยเริ่มตั้งแต่ ระบบนิเวศของป่าชายเลน ระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย และหาดโคลน ระบบนิเวศแนวปะการัง เป็นต้น
                3. นิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ เป็นส่วนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งทำการประมงโดยใช้เครื่องมือประมงทะเล เช่น โป๊ะ และเรือประมงทะเลชนิดต่างๆ เป็นเส้นทางค้าขาย และเดินทางติดต่อกันของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคนานาประการจากคลื่น ลม และพายุ จนทำให้เรืออัปปางเกิดเป็นเรื่องราวของการขุดค้น และศึกษาโบราณคดีใต้น้ำเป็นต้น
                4. ห้องพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย และวิวัฒนาการของหอย ในห้องนี้จะจัดแสดงเกี่ยวกับเปลือกหอยที่พบในทะเลกลุ่มต่างๆ ได้แก่ ลิ่นทะเล หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หอยงวงช้าง และหอยงาช้าง เป็นต้น รวมทั้งนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับหอยแต่ละกลุ่ม วิวัฒนาการของหอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการแบ่งกลุ่มของหอยที่มีอยู่ในโลก
สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
  เป็นส่วนที่จัดแสดงเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตและความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลชนิดต่างๆที่อาศัยอยู่ในเขตน่านน้ำของไทย  โดยทรัพยากรที่ใช้ในการให้ความรู้คือสิ่งมีชีวิตในทะเลชนิดต่างๆทั้งพืชและสัตว์ที่ยังมีชีวิต โดยสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดที่มีระบบยังชีพสำหรับให้สิ่งมีชีวิตต่างๆเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ในแต่ละตู้มีการจัดสภาพให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด แต่ละตู้จะมีป้ายเพื่อบ่งบอกชนิดสัตว์ทะเลที่อยู่ในตู้ทั้งชื่อสามัญและชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยหัวข้อต่างๆที่ให้ความรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 หัวข้อใหญ่ ดังแสดงในแผนผังการจัดแสดงในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ได้แก่
1. สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ตามปกติแล้วระดับน้ำของทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นประจำทุกวัน คือ วันละ ครั้งหรือสองครั้ง เนื่องจากอิทธิพลของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ โดยเราทราบได้จากการสังเกตในเวลาที่มี น้ำขึ้น-น้ำลง ตามชายฝั่งหรือตามเกาะต่างๆโดยทั่ว ๆ ไปบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง จะมีสิ่งมีชีวิตนานาชนิดอาศัยอยู่มากมาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บริเวณชายฝั่งทะเลที่เป็นบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลงนั้น จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งเราสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด เช่น หาดทราย หาดหิน และหาดโคลน เป็นต้น
         สำหรับส่วนที่จัดแสดงไว้ในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสนนี้ เป็นบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง บริเวณที่เป็นหาดหิน และมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งหิน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกกันทั่วไปว่า "แอ่งน้ำขึ้น-น้ำลง" (Tidal Pool) ตามธรรมชาติตามแอ่งน้ำขึ้น-น้ำลงเช่นนี้จะพบ กุ้ง ลูกปลาบางชนิด หอยนางรม ปูเสฉวน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวทะเล ฯลฯ
2. ปลาในแนวปะการัง บริเวณแนวปะการังนับเป็นแหล่งที่มีความ อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งของทะเล เพราะสัตว์ทะเลหลาย ชนิดอาศัยบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบ ซ่อนภัยและเป็นแหล่งอาหาร นอกจากนี้แล้ว ยังใช้เป็นที่สำหรับผสมพันธุ์ วางไข่ และเจริญเติบ โตของสัตว์ตัวอ่อนอีกด้วย สำหรับปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นปลาที่มีขนาดและมีสีสันสวย งาม เช่น ปลาสลิด ปลาการ์ตูน ปลาเขียวพระอินทร์ ปลาผีเสื้อ และปลาโนรี เป็นต้น
3. การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตในทะเลเหมือนกับสิ่งมีชีวิตบน บกคือ มีการอยู่ร่วมกัน และพึ่งพาอาศัยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอยู่ร่วมกันแบบที่ เรียกว่า "ซิมไบโอซิส" (Symbiosis) ซึ่งหมายถึงการที่สิ่ง มีชีวิตสองชนิดอาศัยอยู่รวมกัน หรืออยู่ ปนกันโดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่ง กันและกัน เช่น ปลาการ์ตูน หรือ ปลาอินเดียแดงสามารถอยู่ร่วมกับ ดอกไม้ทะเล (sea anemone) ได้ โดยที่ปลา เหล่านี้จะอาศัยดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบ ภัยและสืบพันธุ์ ส่วนดอกไม้ทะเลจะได้รับ ประโยชน์จากปลาโดยการล่อเหยื่อหรือชัก นำเหยื่อให้เข้ามาใกล้พอที่ดอกไม้ทะเล จะจับเป็นอาหารได้ ดอกไม้ทะเลมีหนวดอยู่เป็นจำนวนมากและ ที่บริเวณปลายหนวดของมันจะมีเข็มพิษหรือ ที่เรียกว่า "นีมาโตซีส" (Nematocyst) อยู่เป็นจำนวน มาก นอกจากเข็มพิษนี้แล้ว บริเวณหนวดของดอกไม้ ทะเลอาจ มีเมือกเหนียว ๆ อยู่ด้วย เวลาที่ปลาว่ายเข้า มาใกล้ตัวมันจะใช้หนวดพันปลาไว้ แล้ว จะปล่อยเข็มพิษ ทำให้ปลาสลบหรือช็อคตายแล้ว กินปลานั้นเป็นอาหาร 
สำหรับเข็มพิษของดอกไม้ทะเลเหล่านี้ไม่ เป็นอันตรายต่อปลาการ์ตูน ปลาอินเดียแดงหรือปลาที่ อยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลเหล่านี้ เพราะปลาดัง กล่าวมีสารเคมีที่มีลักษณะเป็นเมือกหุ้ม ตัวอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นลักษณะที่ธรรมชาติสรรค์ สร้างให้มันอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยทั่ว ๆ ไปดอกไม้ ทะเลอาจไม่มีพิษกับคน ยกเว้นในกรณีของ บางคนอาจมีอาการแพ้เกิดขึ้นถ้าไป สัมผัสเข้า โดยจะเกิดผื่นแดง และมีอาการคันหรือ บวมได้
4. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็มเป็นสัตว์โครงร่างแข็งที่ไม่ใช่กระดูกอยู่ภายในลำตัว และ บางชนิดมีเปลือกแข็งหุ้มอยู่ภายนอก เพื่อป้องกัน อันตราย และใช้ยึดของกล้ามเนื้อ เช่น หอย หมึก กุ้ง หนอนทะเล และ ฟองน้ำ ว่าเป็น สัตว์กลุ่มใหญ่ในทะเลและมหาสมุทร สัตว์จำพวกนี้ มีลักษณะแตกต่างกันออกไปทั้งขนาด รูปร่าง ที่ อยู่อาศัย และอุปนิสัยในการกินอาหาร บางชนิดมี อันตราย แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ และมีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ สัตว์เหล่านี้ ได้แก่ สัตว์ในไฟลั่ม โพริเฟอร์รา (Phylum Porifera) ไฟลั่มซีเลนเท อราต้า (Phylum Coelenterata) ไฟลั่มมอลลัสกา (Phylum Mollusca) ไฟลั่มอาร์โทรโปดา (Phylum Arthropoda) และ ไฟลั่มเอคไคโนเดิร์มมาต้า (Phylum Echinodermata) เป็นต้น
5. ปลาเศรษฐกิจ ในทะเลและมหาสมุทรเขตร้อนเป็นบริเวณที่ค่อนข้างมีปลาชุกชุม และปลาหลายชนิดเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับประเภทของปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 พวก คือ 
  1. พวกที่นำมาเป็นอาหาร ส่วนมากเป็นปลาที่พบเห็นโดยทั่วไป และชาวประมงจับขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปลาเศรษฐกิจที่นำมาเป็นอาหารนั้นมีจำนวนมาก ฉะนั้นเราจึงขอแนะนำให้รู้จักเพียงบางชนิด เช่น ปลากะรัง หรือที่เรียกกันว่า "ปลาเก๋า" นอกจากนี้ก็มีปลากะพง ชนิดต่าง ๆ ปลาอีคุด ปลาสีขน ปลาสร้อยนกเขา และ ปลาหูช้าง เป็นต้น
  2. พวกที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ส่วนมากเป็นที่อาศัยอยู่ในบริเวณปะการัง ได้แก่ ปลาสลิดทะเล ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาเหล่านี้นอกจากจะนำมาเป็นอาหารได้แล้ว ปัจจุบันยังนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงามด้วย ทำให้มีราคาค่อนข้างแพง เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ฉะนั้นเราจึงจัดปลาสวยงามเหล่านี้ไว้ในกลุ่มปลาเศรษฐกิจด้วย ปลาในกลุ่มนี้มีลักษณะหลายแบบแตกต่างกันออกไป บางชนิดมีลวดลายและสีสันที่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเพื่ออำพรางศัตรู เช่น ปลาผีเสื้อปากยาว เป็นต้น จะสังเกตเห็นว่าครีบหลังมีจุดดำขนาดใหญ่ ซึ่งนักมีนวิทยาสันนิษฐานว่าจุดดำขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงครีบหลังของปลาผีเสื้อปากยาวนั้นมีลักษณะดูคล้ายกับตาของปลาที่มีขนาดใหญ่จึงทำให้ปลาอื่น ๆ ไม่กล้าเข้ามาทำอันตราย
นอกจากนี้แล้วม้าน้ำซึ่งเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลกจัดเป็นปลาเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งด้วย เพราะนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้และยังส่งเป็นสินค้าออกในรูปของการตากแห้ง เพราะว่าม้าน้ำนี้ใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของยาจีน
ม้าน้ำ เป็นปลาที่มีลักษณะพิเศษ คือ ม้าน้ำตัวผู้จะมีถุงหน้าท้องเป็นที่สำหรับฟักไข่ที่ได้รับการผสมด้วยเชื้อตัวผู้แล้ว นอกจากนี้ยังเป็นที่สำหรับให้ตัวอ่อนของลูกม้าน้ำเจริญเติบโตอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่ามันจะช่วยตัวเองได้ จึงจะออกมาอาศัยอยู่ภายนอก
6. ปลารูปร่างแปลกและปลามีพิษ ปลาบางชนิดมีรูปร่างแปลก โดยมีรูปร่างหรือสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อหลบหลีกศัตรูหรือพรางตาเหยื่อ ปลาบางจำพวกนอกจากมีรูปร่างแปลกแล้ว ยังมีสีสันสวยงามและมีพิษด้วย ปลาประเภทนี้มีประมาณ 500 ชนิด รวมถึงปลาบางชนิดที่รับประทานแล้วเป็นพิษต่อมนุษย์โดยทั่วไปปลาทะเลต่าง ๆ นั้นมีรูปร่างผิดแปลกแตกต่างกันไปตามอุปนิสัยการกินอาหารการหลบซ่อนตัว หรือการอยู่อาศัย บางชนิดมีรูปร่างแบนลง เพื่อให้เหมาะสมกับการหากินบริเวณหน้าดิน เช่น ปลากระเบน ปลาลิ้นหมา ปลาวัว ปลาไหลทะเล ปลาปักเป้า ปลาสิงโต ปลาเหาฉลาม ปลาฉลามกบหรือฉลามแมว ปลาอุบ และ ปลากะรังหัวโขน เป็นต้น
7. ปลาที่อาศัยในมหาสมุทร ในทะเลและมหาสมุทรมีปลาขนาดใหญ่หลายชนิดอาศัยอยู่ มีขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ปลาที่มีขนาดเล็กรวมทั้งพวกที่มีสีสันสวยงามหลายพวก มักจะอาศัยอยู่ใกล้ฝั่งหรืออยู่ในที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีที่กำบังและหลบภัย อาศัยอยู่มากในช่วงความลึกไม่เกิน 1,000 เมตร จากผิวน้ำ ได้แก่ ปลาที่เรารู้จักดี เช่น ปลาโอ ปลากะพงขาว ปลาหมอทะเล ปลาอินทรีย์ ปลากระเบน ปลาหมอทะเล ปลาฉลาม เป็นต้น ปลาอีกหลายชนิดอาศัยอยู่ลึกลงไปเกือบถึงพื้นสมุทร ซึ่งลึกประมาณ 2,000 เมตร เช่น ปลาคอด เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น